ในเดือนมกราคม ๒๕๑๗ คุณศักดิ์ ศิลปานนท์ คหบดีผู้มีความเลื่อมใสและเคารพนับถือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้เข้าพบพระเทพสารเวที เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในขณะนั้น แจ้งว่ามีความประสงค์จะหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ขนาดเท่าองค์จริงจำนวน ๑๐ องค์ เพื่อแจกจ่ายให้วัดต่างๆในสายพระอาจารย์มั่น และขอใช้สถานที่วัดเจดีย์หลวงเป็นสถานที่เททอง เพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นวัดสำคัญที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยจำพรรษาอยู่ในสมัยท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง และช่วยเจ้าอาวาสสร้างพระวิหารหลวงจนเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๓ พระอาจารย์มั่นจึงได้ออกจาริกธุดงค์ ณ วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง
เมื่อพระเทพสารเวทีได้พิจารณาแล้ว จึงอนุญาติให้ใช้สถานที่ได้ ทางคุณศักดิ์ ศิลปานนท์ จึงได้กำหนดเตรียมการเททองหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่นในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗ และกราบทูลสมเด็จพระมหาวีรวงษ์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร (รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช) เป็นผู้ไปเททองหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงษ์ได้ทรงเมตตารับนิมนต์
เมื่อได้กำหนดวันทำพิธีเททองหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเทพสารเวที ก็มีความคิดที่จะสร้างปูชนียวัตถุ เพื่อจุดประสงค์ดังนี้คือ
๑. เพื่อเป็นที่ระลึกในการหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น
๒. ขณะนั้นพระวิหารหลวงซึ่งพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท) และพระอาจารย์มั่น ได้สร้างไว้ ช่อฟ้าได้ชำรุดมาก สมควรจะได้ปัจจัยจำนวนหนึ่งมาดำเนินการซ่อมแซมและทางวัดมีแผนที่จะสร้างห้องสมุดสำหรับวัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ภิกษุสามเณรใช้ศึกษาปฏิบัติธรรม ในการนี้จะต้องใช้เงินประมาณ ๓ – ๔ แสนบาท
พระเทพสารเวทีจึงได้ปรึกษากับศิษย์ของท่าน คือ คุณชัชวาล ชุติมา (รองผู้จัดการบริษัทไทยเงินทุน เชียงใหม่) และคุณนิยม อินถา (พนักงานธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าแพ เชียงใหม่) ตกลงกันว่าจะสร้างปูชนียวัตถุเป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และสร้างจำนวนไม่มาก กะจำนวนให้ใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ต้องการเท่านั้น โดยพระเทพสารเวที รับเป็นประธานกรรมการ โดยประกอบไปด้วยคณะกรรมการดังนี้ คุณชัชวาล ชุติมา, คุณเกษม เลิศมโนกุลชัย, คุณสัมฤทธิ์ สรรสวาสดิ์, คุณนิยม อินถา และคุณประสงค์ อินถานะ
ก่อนที่จะกล่าวเรื่องต่อไป ขอสรุปประวัติย่อของพระเทพสารเวที เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในขณะนั้น เพราะมีความสัมพันธ์กับการขออนุญาตสร้างเหรียญต่อหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ อยู่บ้าง กล่าวคือ
พระเทพสารเวที มีนามเดิม “ขันติ์” นามสกุล “พรหมโคตร” เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ บ้านเดิมอยู่ที่ปราจีนบุรี บวชเป็นสามเณรที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาได้ไปจำพรรษาทั้งที่ยังเป็นสามเณรที่วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๓ ครั้งสุดท้ายได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพสารเวที และเป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ซึ่งในขณะที่สามเณรขันติ์ พรหมโคตร ย้ายจากวัดบรมนิวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ไปจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง เป็นจังหวะเดียวกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เข้ามาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง สามเณรขันติ์ พรหมโคตร จึงได้รับใช้ปรนนิบัติในขณะที่หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนั่นเอง
ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๗ พระเทพสารเวทีได้ออกเดินทางไปวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อขออนุญาติในการสร้างเหรียญรูปเหมือน เมื่อหลวงปู่ทราบความประสงค์ของพระเทพสารเวทีแล้ว ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ ประจวบกับหลวงปู่มีอายุครบ ๗ รอบ ในปี ๒๕๑๗ พระเทพสารเวทีจึงได้สร้างเหรียญเป็นที่ระลึกจัดเป็นรุ่นพิเศษในคราวเดียวกันกับการหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง
ส่วนงานดำเนินการสร้างพระเทพสารเวทีได้ตกลงกับสานุศิษย์ตกลงสร้างเหรียญกลมขนาดใหญ่และเล็ก และเหรียญรูปไข่ โดยให้คุณชัชวาล ชุติมา และคุณนิยม อินถา เป็นผู้ดำเนินงานจัดทำและควบคุมการปั๊มเหรียญ โดยตกลงให้มีการตอกโค๊ด “จ.ล.” (เจดีย์หลวง) และทำลายบล็อคแม่พิมพ์ภายหลังการปั๊มเหรียญ
คุณชัชวาล ชุติมา, คุณนิยม อินถา และคุณเกษม เลิศมโนกุลชัย จึงได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯและติดต่อกับช่างเกษม มงคลเจริญ ดำเนินการออกแบบและแกะพิมพ์สำหรับเหรียญกลมใหญ่และเล็ก ส่วนเหรียญรูปไข่แกะพิมพ์โดยช่างประหยัด ละออพันธุ์สกุล(ช่างอ๊อด)
เมื่อได้แม่พิมพ์แล้ว ในขั้นตอนการปั๊มเหรียญ มีการควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยคุณนิยมและคุณเกษม กล่าวคือภายหลังการเลิกปั๊มในแต่ละวัน จะมีการถอดเก็บแม่พิมพ์ไว้เพื่อมาปั๊มต่อในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาในการปั๊มเหรียญทั้งหมด ๓ วัน ปั๊มที่โรงปั๊มง่วนจั๊ว อยู่เขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ
การปลุกเสกเหรียญและพิธีพุทธาภิเษก
เหรียญที่สร้างแล้วทั้งหมด คณะกรรมการได้นำมาที่วัดเจดีย์หลวงในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๗ เวลา ๐๕.๐๐ น. เพื่อทำการตอกโค๊ดและตรวจนับให้ถูกต้อง แล้วพระเทพสารเวทีจึงได้นำเหรียญทั้งหมดเดินทางไปที่วัดดอยแม่ปั๋ง พร้อมคณะกรรมการและศิษย์ประมาณ ๑๐ คน โดยเดินทางไปถึงวัดดอยแม่ปั๋งประมาณ ๑๘.๐๐ น. ในวันเดียวกันนั้น ได้นำเหรียญทั้งหมดวางบนปะรำพิธีที่จัดไว้ พอถึงฤกษ์ที่กำหนดไว้เวลา ๒๐.๔๖ น. จึงได้นิมนต์หลวงปู่แผ่เมตตาให้บนปะรำพิธีนั้น โดยหลวงปู่ได้เริ่มจับสายสิญจน์ประณมมืออธิษฐานจิตจนกระทั่งเวลา ๒๐.๕๕ น. จากนั้นพระเทพสารเวทีและพระอาจารย์หนูก็เริ่มสวดชยันโต หลวงปู่จึงได้เริ่มจับเทียนขึ้นมาและทำน้ำพุทธมนต์สำหรับประพรมลงบนวัตถุมงคลที่เข้าร่วมพิธีจนหมด จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นอันเสร็จพิธี คณะจึงเดินทางกลับพร้อมวัตถุมงคลทั้งหมด ถึงวัดเจดีย์หลวงราว ๒๔.๐๐ น. เมื่อถึงวัดจึงได้ทำประทักษิณ(การเดินเวียนขวารอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์) พระธาตุและพระประธานจำนวน ๓ รอบ
พระเทพสารเวทีได้นำวัตถุมงคลทั้งหมดเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๗ ที่พระวิหารหลวง โดยพิธีเริ่มเมื่อเวลา ๑๒.๔๕ น. โดยพราหมณ์ ๓ ท่านประกอบพิธีบวงสรวงปวงเทพยดา และเมื่อถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาทิเช่น หลวงปู่คำมี, หลวงปู่คำแสน, หลวงปู่พรหม, หลวงปู่สิม และพระอาจารย์หนู สุจิตฺโต นั่งปรกปลุกเสก จนกระทั่งเวลา ๒๔.๑๕ น. หลวงปู่คำมีแห่งถ้ำคูหาสวรรค์ จ.ลพบุรี เป็นผู้ดับเทียนชัย เป็นอันเสร็จพิธี
วัตถุมงคลที่จัดสร้างมีดังนี้
๑.เหรียญกลมขนาดใหญ่
๒.เหรียญกลมขนาดเล็ก
๓.เหรียญพระอัฏฐารส
๔.พระผงพิมพ์ปิดตา – พิมพ์พระสังกัจจายน์
๑.เหรียญกลมขนาดใหญ่
จำนวนการสร้างเหรียญกลมขนาดใหญ่ มีดังนี้
เหรียญเนื้อตะกั่ว จำนวน ๖ เหรียญ
เหรียญเนื้อทองคำ ๑๙ เหรียญ
เหรียญเนื้อเงิน ๖๐๐ เหรียญ
เหรียญเนื้อนวะโลหะ ๑,๒๐๐ เหรียญ
เหรียญเนื้อทองแดง ๙,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญลองพิมพ์จำนวนไม่มากนัก ปั๊มขึ้นมาเพื่อดูรายละเอียดพิมพ์ ในขั้นตอนนี้อาจลองปั๊มหลายเนื้อ เช่นเนื้อตะกั่ว, เนื้อทองแดง หรือในกรณีเหรียญกลมใหญ่นี้ได้นำแผ่นอลูมิเนียมมาลองปั๊ม ๑ เหรียญ ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังที่นำมารองตอนปั๊มลองพิมพ์เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังของเหรียญหลวงปู่ตื้อที่น่าจะอยู่ในโรงปั๊มเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างเหรียญแต่อย่างใด แต่ท้ายที่สุดแล้วหลังจากตกแต่งพิมพ์ไปจนเป็นที่พอใจ จึงจะเริ่มนำบล็อคแม่พิมพ์ที่ได้มาปั๊มเหรียญจริงๆ ตามจำนวนที่ตกลงไว้ ซึ่งเหรียญลองพิมพ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็มีจำนวนไม่มากนักในแต่ละเนื้อและรายละเอียดอาจไม่เหมือนกับเหรียญที่ออกจากวัดแต่จะมีความคล้ายกันเท่านั้น
*** เหรียญตะกั่ว ๖ เหรียญที่ระบุในจำนวนการสร้างนั้น ไม่ได้ปั๊มติดต่อกัน ๖ เหรียญ สาเหตุที่ปั๊มเนื้อตะกั่วออกมานั้น เพราะระหว่างการปั๊มเนื้อทองแดง, เงิน และนวโลหะนั้น จะมีเศษโลหะติดอยู่ตามซอกของบล็อคแม่พิมพ์ ช่างจึงมีการนำแผ่นตะกั่วมาปั๊มคั่นเพื่อที่เศษโลหะในแม่พิมพ์จะติดออกมากับเนื้อตะกั่ว เพราะเนื้อตะกั่วนั้นมีความอ่อนตัวค่อนข้างสูง เพราะฉนั้นเนื้อตะกั่วบางเหรียญจะเห็นเศษโลหะในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่รวมแล้วได้ทั้งหมด ๖ เหรียญเท่านั้น
๒.เหรียญกลมขนาดเล็ก
จำนวนการสร้างเหรียญกลมเล็ก
เนื้อเงิน ๖๐๐ เหรียญ
เนื้อทองแดง ๒,๐๐๐ เหรียญ
เนื้อทองแดงลองพิมพ์ไม่ตัดปีกและเนื้อตะกั่วอีกจำนวนไม่มากนัก
๓.เหรียญพระอัฏฐารส
เหรียญพิมพ์นี้รูปหลวงปู่นั่งเต็มองค์เป็นด้านหลังของเหรียญ ส่วนพระอัฏฐารสจะเป็นด้านหน้าของเหรียญ ซึ่งพระอัฏฐารสก็คือพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัดเจดีย์หลวง นั่นเอง จำนวนการสร้างเหรียญพระอัฏฐารส
เหรียญเนื้อเงิน ๕๐๐ เหรียญ
เหรียญเนื้อนวะโลหะ ๔๐๐ เหรียญ
เหรียญเนื้อทองแดง ๒,๕๑๗ เหรียญ
เหรียญลองพิมพ์ จำนวนไม่มากนักเท่าที่พบมีเนื้อทองแดงและตะกั่ว
๔. พระผงพิมพ์พระปิดตา และพิมพ์พระสังกัจจายน์
เนื่องด้วยในการสร้างเหรียญรุ่นพิเศษวัดเจดีย์หลวง ทางคณะกรรมการอันมี คุณชัชวาล ชุติมา, คุณเกษม เลิศมโนกุลชัย, คุณสัมฤทธิ์ สรรสวาสดิ์, คุณนิยม อินถา และคุณประสงค์ อินถานะ ได้มีความคิดในการสร้างพระเนื้อผงขึ้นในพิธีเดียวกันกับเหรียญรุ่นพิเศษนี้ เพื่อนำถวายพระเทพสารเวทีไว้เพื่อแจกให้กับสานุศิษย์ที่มาอวยพรรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ และส่วนหนึ่งได้แจกให้คณะกรรมการหรือผู้ติดต่อขอมา
แบบพิมพ์พระผงที่มีการสร้าง มีดังนี้
๑.พระผงพิมพ์พระสังกัจจายน์ ด้านหลังเป็นรูปยันต์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แบ่งเป็น ๓ แบบคือ
ก.แบบฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระสังกัจจายน์มีหมายเลขตอกด้านหลังตั้งแต่เลข ๑ ถึง ๒๒๗ (สร้างจำนวน ๒๒๗ องค์) ผู้ได้รับแจกจะได้รับใบกำกับหมายเลขประจำองค์พระทุกองค์
ข.แบบไม่มีเม็ดพระธาตุ ไม่มีหมายเลขจำนวน ๑๓๗ องค์
ค.แบบฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระสังกัจจายน์ แต่ทำเป็นรูปกลมแบบไม่มีหมายเลข จำนวน ๕๗ องค์
๒.พระผงพิมพ์พระปิดตา ด้านหลังเป็นรูปยันต์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แบ่งเป็น ๓ แบบคือ
ก.แบบฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระปิดตามีหมายเลขตอกด้านหลังตั้งแต่เลข ๑ ถึง ๒๒๗ (สร้างจำนวน ๒๒๗ องค์) ผู้ได้รับแจกจะได้รับใบกำกับหมายเลขประจำองค์พระทุกองค์
ข.แบบไม่มีเม็ดพระธาตุ ไม่มีหมายเลขจำนวน ๑๐๓ องค์
ค.แบบฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระปิดตา แต่ทำเป็นรูปกลมแบบไม่มีหมายเลข จำนวน ๕๘ องค์
"เหรียญรุ่นพิเศษวัดเจดีย์หลวงปี17 ของหลวงปู่แหวนรุ่นนี้ เป็นหนึ่งในเหรียญหลักยุคต้นของหลวงปู่ ที่มีบันทึกกระบวนการสร้างค่อนข้างชัดเจนและละเอียดทั้งผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งหาอ่านได้ไม่ยากทั้งในหนังสือเก่าหรือข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
รุ่นนี้ส่วนตัวยังไม่เคยเห็นของเก๊บล็อคคอมฯนะครับ ถ้าให้เดาสาเหตุก็น่าจะมาจากน่าจะทำเก๊ยาก เพราะเหรียญค่อนข้างมีรายละเอียดเส้นเสี้ยนต่างๆเยอะ รวมไปถึงอักษร"ว" ตรงหลังหูเหรียญ ที่ถ้าถอดออกมาแล้ว คงสังเกตได้ไม่ยาก รวมไปถึงโค๊ดก็คมชัดอีกต่างหาก
หลายๆคนก็คงดูเป็นได้ไม่ยาก แต่อนาคตอาจมีงานเก๊ฝีมือออกมา อัดคลิปบันทึกไว้ก็คงไม่เสียหลาย เผื่อวันหน้ามีเก๊ออกมา จะได้เอามาเทียบในคลิปได้
"