เหรียญแม่ริม
นายอำเภอแม่ริมและคณะได้จัดสร้างขึ้น เพื่อนำรายได้จากการออกให้เช่าบูชามาสมทบทุนในการสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอแม่ริมในสมัยนั้น นายช่างเกษม มงคลเจริญ เป็นช่างผู้ออกแบบ คณะกรรมการได้ตอกโค๊ด “สุ” ซึ่งเป็นพยางค์แรกของฉายาหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ไว้ด้านหลังเหรียญ โดยแต่ละเนื้อตำแหน่งที่ตอกก็ต่างกัน โดยเนื้อที่สร้างมีดังนี้- เนื้อเงิน ๑,๐๐๐ เหรียญ- เนื้อนวโลหะ ๑,๐๐๐ เหรียญ- เนื้อทองแดง ๕,๐๐๐ เหรียญ
ทำการแผ่เมตตา ๓ คืน คือวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๑๗ อันเป็นวันฉัตรมงคล ซึ่งเป็นวันครบรอบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราช คืนวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๗ อันเป็นวันวิสาขบูชา วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ปูรณมีวิสาขา พระจันทร์เต็มดวง และในคืนวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๗ อันเป็นวันพืชมงคล พระราชพิธีแรกนาขวัญ
"เหรียญหลวงปู่แหวนรุ่นแม่ริม ปี17 เป็นเหรียญหลักยุคต้นของหลวงปู่ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง ราคาขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเหรียญรุ่นแรกๆที่มีการทำปลอมบล็อคคอมฯอีกด้วย ถถถ
เมื่อก่อนสมัยที่เก๊บล็อคคอมยังไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ พระปลอมจะเป็นแบบแกะบล็อคขึ้นมาใหม่ หน้าตาหรือตัวหนังสือต่างๆบนเหรียญจะเพี๊ยนไปหมด ดูผ่านๆก็พอดูออกแล้วว่าเก๊ เซียนพระส่วนใหญ่จึงอาศัยจุดสังเกตพระแท้ที่ชอบเรียกกันว่า"จุดตาย" หรือ"จุดจ่ายตังค์"
แน่นอนว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จุดตายที่ใช้ในเหรียญแม่ริมในตอนนั้นคือ ตรงหัวของ"ว" ตรงคำว่า"ที่ว่า" ด้านหลังเหรียญ จะมีเส้นแตกทะลุตัว"ท"... แค่นี้เลย ดูแท้เก๊แค่พลิกดูตรงนี้ ตอนนั้นยังไม่ดูตัวตัดด้วยซ้ำ ปรากฏว่าพอของเก๊บล็อคคอมออกมา มันถอดติดเส้นพวกนี้หมด โดนกันเป็นแถวๆ พอรู้แล้วถึงขนาดต้องซื้อของปลอมมาศึกษาเลยทีเดียว
อันนี้เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมไม่นิยมชี้จุดตายในการดูพระรุ่นต่างๆ ผมอยากให้ดูหลายๆส่วนประกอบกันมากกว่า รวมไปถึงการอัดคลิปพระแท้เก็บไว้ เผื่อว่าในอนาคตมีพระเก๊ออกมาแต่ไม่มีของแท้ไว้เทียบ ก็ย้อนมาดูคลิปพวกนี้ได้ครับ อันนี้เล่าสู่กันฟังเฉยๆ ไม่ค่อยเกี่ยวกับพระในคลิปเท่าไหร่ ถถถ
พระในคลิปเป็นเนื้อเงินนะครับ ส่วนเนื้อนวะด้านหน้าจะเป็นคนละบล็อคนะครับ ไว้มีโอกาสจะนำมาลงอีกที "
"เหรียญหลวงปู่แหวน รุ่นแม่ริมปี17 เนื้อนวโลหะ
รอบนี้เป็นเนื้อนวะบ้างนะครับ สำหรับคลิปเนื้อเงินตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ
https://youtu.be/E7KV_np7eOg
เหรียญแม่ริมเนื้อนวะนั้นใช้บล็อคคนละตัวกับเนื้อเงินและทองแดง เส้นเสี้ยนบนเหรียญจึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงตำแหน่งโค๊ดที่ใช้ตอกด้านหลังก็คนละตำแหน่งแยกตามเนื้อด้วย ทำให้ง่ายต่อการพิจารณา แต่บางทีเรามักเห็นเหรียญพิเศษ ตอกโค๊ดด้านหน้าบ้าง หูตันบ้าง ไม่ตอกโค๊ดบ้าง จะดูว่าเป็นเนื้อนวะรึเปล่า ก็ดูจากบล็อคประกอบได้ ซึ่งจริงๆเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติของการสร้างพระยุคก่อน รายละเอียดปลีกย่อยพระพิมพ์พิเศษที่ทำให้กันเฉพาะในหมู่ผู้สร้างหรือคนใกล้ชิด มักไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในวารสารต่างๆ แต่พอนานๆไปพิมพ์พิเศษเหล่านี้มักหลุดออกมาให้พบเห็นกัน กลายเป็นของหายากไป
เหรียญแม่ริมของเก๊ ไม่เคยเห็นเนื้อนวะนะครับ เคยเห็นแต่เนื้อเงินกับเนื้อทองแดง ซึ่งตอนนี้หลายๆคนก็คงแยกกันได้แล้ว ไม่ค่อยมีประเด็นเท่าไหร่ อนึ่งฯแม้เหรียญแม่ริมจะเป็นการตอกโค๊ดด้านหลัง แต่ก็ไม่ค่อยมีผลกับจมูกของพิมพ์ด้านหน้าเท่าไหร่ น่าจะเพราะตำแหน่งโค๊ดเยื้องไปด้านข้าง ไม่เหมือนรุ่นพิเศษวัดเจดีย์หลวง เนื้อนวะจมูกแทบจะบี้ทุกองค์ เพราะตอกโค๊ดตรงข้ามกับจมูกอีกฝั่งเป๊ะ น่าเสียดายเหมือนกัน
ขออนุญาตพูดถึงในแง่ของงานศิลปะนิดนึงนะครับ เหรียญแม่ริมเป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของช่างเกษม มงคลเจริญ ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ พระของหลวงปู่แหวนหลายๆรุ่นในยุคแรกอาทิเช่น เหรียญนามชัย เหรียญทอ.1, 2 เหรียญรุ่นพิเศษ รูปหล่อรุ่นแรกพิมพ์หน้าแหงน ฯลฯ มักไม่พ้นฝีมือของช่างเกษม ซึ่งส่วนตัวชื่นชอบงานของช่างเกษมมาก แกะได้เหมือนและมีเอกลักษณ์ ภาษาสมัยนี้ก็เรียกได้ว่ามีลายเซ็นในผลงานแต่ละชิ้น มองปุ๊บก็จะพอเดาได้เลยว่าเป็นงานของช่างเกษม ซึ่งในยุคก่อนสมัยก่อนมันยังไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยเหมือนสมัยนี้ แล้วทำงานได้สุดยอดขนาดนี้ น่านับถือฝีมือช่างเกษมมากๆครับ พระหลายรุ่นของหลวงปู่แหวนหรือแม้แต่พระรูปอื่น หากเป็นงานของช่างเกษมแล้ว แม้ไม่มีราคาค่างวดในแง่ความนิยมในวงการพระ แต่ทรงคุณค่าแก่การเก็บสะสมเพื่อการอนุรักษ์สืบสานงานในแง่พุทธศิลป์มากๆครับ"