รอบนี้เป็นเนื้อนวะบ้างนะครับ สำหรับคลิปเนื้อเงินตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ
https://youtu.be/E7KV_np7eOg
เหรียญแม่ริมเนื้อนวะนั้นใช้บล็อคคนละตัวกับเนื้อเงินและทองแดง เส้นเสี้ยนบนเหรียญจึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงตำแหน่งโค๊ดที่ใช้ตอกด้านหลังก็คนละตำแหน่งแยกตามเนื้อด้วย ทำให้ง่ายต่อการพิจารณา แต่บางทีเรามักเห็นเหรียญพิเศษ ตอกโค๊ดด้านหน้าบ้าง หูตันบ้าง ไม่ตอกโค๊ดบ้าง จะดูว่าเป็นเนื้อนวะรึเปล่า ก็ดูจากบล็อคประกอบได้ ซึ่งจริงๆเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติของการสร้างพระยุคก่อน รายละเอียดปลีกย่อยพระพิมพ์พิเศษที่ทำให้กันเฉพาะในหมู่ผู้สร้างหรือคนใกล้ชิด มักไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในวารสารต่างๆ แต่พอนานๆไปพิมพ์พิเศษเหล่านี้มักหลุดออกมาให้พบเห็นกัน กลายเป็นของหายากไป
เหรียญแม่ริมของเก๊ ไม่เคยเห็นเนื้อนวะนะครับ เคยเห็นแต่เนื้อเงินกับเนื้อทองแดง ซึ่งตอนนี้หลายๆคนก็คงแยกกันได้แล้ว ไม่ค่อยมีประเด็นเท่าไหร่ อนึ่งฯแม้เหรียญแม่ริมจะเป็นการตอกโค๊ดด้านหลัง แต่ก็ไม่ค่อยมีผลกับจมูกของพิมพ์ด้านหน้าเท่าไหร่ น่าจะเพราะตำแหน่งโค๊ดเยื้องไปด้านข้าง ไม่เหมือนรุ่นพิเศษวัดเจดีย์หลวง เนื้อนวะจมูกแทบจะบี้ทุกองค์ เพราะตอกโค๊ดตรงข้ามกับจมูกอีกฝั่งเป๊ะ น่าเสียดายเหมือนกัน
ขออนุญาตพูดถึงในแง่ของงานศิลปะนิดนึงนะครับ เหรียญแม่ริมเป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของช่างเกษม มงคลเจริญ ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ พระของหลวงปู่แหวนหลายๆรุ่นในยุคแรกอาทิเช่น เหรียญนามชัย เหรียญทอ.1, 2 เหรียญรุ่นพิเศษ รูปหล่อรุ่นแรกพิมพ์หน้าแหงน ฯลฯ มักไม่พ้นฝีมือของช่างเกษม ซึ่งส่วนตัวชื่นชอบงานของช่างเกษมมาก แกะได้เหมือนและมีเอกลักษณ์ ภาษาสมัยนี้ก็เรียกได้ว่ามีลายเซ็นในผลงานแต่ละชิ้น มองปุ๊บก็จะพอเดาได้เลยว่าเป็นงานของช่างเกษม ซึ่งในยุคก่อนสมัยก่อนมันยังไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยเหมือนสมัยนี้ แล้วทำงานได้สุดยอดขนาดนี้ น่านับถือฝีมือช่างเกษมมากๆครับ พระหลายรุ่นของหลวงปู่แหวนหรือแม้แต่พระรูปอื่น หากเป็นงานของช่างเกษมแล้ว แม้ไม่มีราคาค่างวดในแง่ความนิยมในวงการพระ แต่ทรงคุณค่าแก่การเก็บสะสมเพื่อการอนุรักษ์สืบสานงานในแง่พุทธศิลป์มากๆครับ